แก้มลิงชุมพร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่

4 ธันวาคม 540เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพร

ว่า “..เมื่อสองเดือนมีน้ำท่วมหนักในประเทศในหลายจังหวัด

แต่ที่ดูรุนแรงที่สุดคือที่จังหวัดชุมพร

โดยที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีพายุไต้ฝุ่นและโซนร้อนมา

ฝนลงจนทำให้น้ำท่วมเองชุมพรมีความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล

ทำให้คิดถึงว่าน่าจะไปดูว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ฝนตกมาและน้ำท่วมในเมือง

เขาว่าบางแห่งก็สองเมตร

ทำให้มีความเสียหายมากต่อทรัพย์สินของประชาชนและแม้แต่สิ่งของทางราชการ

เช่น ที่โรงพยาบาล เครื่องเอกเซย์ถูกน้ำท่วมเสียหายไป ฉะนั้น

ถ้าจะลงทุนเพื่อที่จะป้องกันมิให้น้ำท่วมรุนแรงอย่างนั้นก็ควรหาวิธี

ได้ส่งคนไปถ่ายรูปทางบก ทางอากาศ และเราก็ดูแผนที่

เห็นว่ามีที่แห่งหนึ่งที่ควรทำเป็นแก้มลิงได้โดยธรรมชาติ คือ มีหนองใหญ่

หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างตามชื่อ

แต่ว่าก็ไม่ใหญ่พอเพราะว่ามีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน

ที่สำคัญมีคลองที่อยู่ใกล้หนองใหญ่นั้น แต่คลองนั้นยังตัน

คือยังไม่ได้ขุดให้ตลอด เหลือระยะอีกกิโลเมตรครึ่งเศษๆ

น้ำที่จะลงในคลองนี้เพื่อที่จะระบายออกทะเลมิให้หันวกมาท่วมเมืองลงทะเลยังไม่ได้

เลยถามว่าโครงการเขาจะขุดคลองนี้เสร็จเมื่อไร

เขาบอกว่ามีงบประมาณแล้วแต่ยังไม่มา และว่าจะทำเสร็จในปีหน้าปี 2541

เลยนึกว่าจะต้องหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากคลอง

ซึ่งได้ลงทุนมากให้ได้ประโยชน์ในฤดูกาลที่จะมีพายุเข้ามา

เลยบอกเขาว่าจะขอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทั้งกรมชลประทาน ทั้งฝ่ายจังหวัด

และมีบริษัทได้รับมอบหมายให้ทำ

ให้เขารีบขุดและทำโครงการให้เสร็จภายในเดือนหนึ่ง

แทนที่จะเป็นปีหนึ่งจะกลายเป็นเดือนหนึ่ง ได้รับรองเขาว่าต้องการสนับสนุน

งานจึงเริ่มโดยทำการขุดและทำเป็นท่อ มีประตูน้ำที่จะทะลุออกไปในหนองใหญ่

เพื่อที่จะระบายน้ำลงคลอง บอกเขาว่าให้เวลาเดือนหนึ่ง

เขาก็สั่นหัวว่างานนี้ต้องใช้เวลา

เลยบอกกับเขาว่าขอสนับสนุนด้วยเงินที่ได้ส่วนหนึ่งของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

เพื่ออุดหนุนให้สร้างประตูน้ำ ใส่ท่อและมีประตูน้ำจากหนองใหญ่ลงคลอง

ส่วนการขุดคลองให้สำเร็จนั้นทางมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนเงิน 18 ล้าน

ซึ่งทางราชการได้มอบเงินตามงบประมาณ

ได้เมื่อไรก็ขอคืนแต่ไม่ทราบว่าทางราชการจะสนับสนุนเงินนี้หรือไม่

แต่ไม่เป็นไร มูลนิธิฯ ก็ยอมที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง …”

จังหวัดชุมพรจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นวางแผนพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เพื่อถวายเป็นราชสักการะเนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 71 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานรวม 5 ข้อคือ

1.ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง
2.ควรจัดตั้งสถานีวัดน้ำระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้า จะทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลหลากลงมาใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่แล้วทยอยระบายทิ้งทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วจึงค่อย ๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร
3.ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค-บริโภค และในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายทิ้งทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักได้อีกด้วย
4.ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรลงได้ในระดับหนึ่ง
5.ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะบรรจบกับคลองรับร่อ) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับเมืองชุมพร และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต เกี่ยวกับโครงการแก้มลิงหนองใหญ่เพิ่มเติม โดยให้พิจารณาขุดคลองละมุให้เชื่อมคลองท่าแซะกับหนองใหญ่เพื่อช่วยแบ่งน้ำส่วนหนึ่งจากคลองท่าแซะลงสู่หนองใหญ่ จากนั้นเมื่อระดับน้ำในคลองหัววัง-พนังตักลดระดับลงจึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำจากหนองใหญ่ระบายลงคลองหัววัง-พนังตัก และไหลลงสู่ทะเล






รอบรั้ว มทบ.44